ความเป็นมาการทอดกฐิน
การทอดกฐิน เป็นการบำเพ็ญบุญที่ได้กระทำสืบเนื่องมาตั้งแต่สมัยพุทธกาล ซึ่งมีที่มาแตกต่างจากการถวายทานอื่นๆ โดยทั่วไป ตรงที่ การถวายทานทั่วไปมักเกิดขึ้นเมื่อมีผู้ขอให้พระบรมศาสดาทรงอนุญาต ส่วนกฐินทาน พระพุทธองค์ทรงมีพุทธานุญาตโดยตรง นับเป็นทานอันเกิดจากพุทธประสงค์โดยแท้ การทอดกฐิน สามารถกระทำได้ภายในระยะเวลา ๑ เดือนหลังออกพรรษา คือ ตั้งแต่วันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ ถึงวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒
ครั้งพุทธกาลมีเรื่องเล่าไว้ในคัมภีร์พระวินัยปิฏก กฐินขันธกะว่า
สมัยหนึ่งพระผู้มีพระภาค ประทับ ณ พระเชตวัน ครั้งนั้นภิกษุ ๓๐ รูป ชาวเมืองปาไฐยยะ (อยู่ ด้านทิศปัจฉิม ในแคว้นโกศล) เดินทางมา ด้วยหวังว่าจะเฝ้าพระผู้มีภาค แต่มาไม่ทันเพราะเหตุใกล้วันเข้าพรรษา จึงพักจำพรรษา ณ เมืองสาเกต ในระหว่างพรรษานั้น ไม่ผาสุก เพราะลำบากด้วยที่อยู่ในฐานะเป็นอาคันตุกะ และต่างก็มีใจรัญจวนถึงพระบรมศาสดา ด้วยคิดว่า แม้จะจากเมืองมาอยู่ ณ ที่ใกล้แล้ว ก็ยังมิได้ถวายบังคมเบื้องบาทมูลแห่งสมเด็จพระบรมศาสดาดังใจประสงค์ ครั้นออกพรรษาแล้ว ภิกษุเหล่านั้นต่างก็รีบออกเดินทางมายังพระเชตวัน ในระหว่างทาง พื้นภูมิภาคยังเป็นหล่มเป็นโคลนเป็นตม เพราะยังไม่แห้งภิกษุทั้งหลายเหยียบย่ำมาตามทาง โคลนตมและน้ำตามหลุมตามบ่อเล็กน้อยก็กะฉูดขึ้นเปื้อนจีวรและร่างกาย ฝ่าแดดกรำฝน ทนความลำบาก จีวรผ้าเนื้อหยาบของภิกษุเหล่านั้นเปียกน้ำฝนน้ำโคลน ก็อุ้มน้ำไว้หนักอึ้ง ลำบากแต่ร่างกายยิ่งแล้วแต่พวกภิกษุทั้ง ๓๐ ก็พากันมาถึงพระเชตวัน ครั้นแล้ว ได้เข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาค พระองค์ทรงปราศรัยตรัสความเป็นไปแล้ว ตรัสธรรมกถา ภิกษุเหล่านั้น ก็ได้สำเร็จพระอรหัตผล ในลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคจึงทรงดำริถึงความลำบากของภิกษุเหล่านั้น และเห็นว่า
กฐินตฺถาโร จ นาเมส สพฺพพุทฺเธหิ อนุญฺญาโต การกรานกฐิน นี้พระพุทธเจ้าทุกพระองค์ ได้ทรงอนุญาตมา ดังนั้น จึงเรียกประชุมภิกษุสงฆ์ แล้วตรัสอนุญาตตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา คือให้ภิกษุรับผ้ากฐินได้ ในเมื่อออกพรรษาแล้ว นางวิสาขา ได้ทราบพุทธานุญาต และได้ถวายผ้ากฐินเป็นคนแรก
การทอกกฐินในประเทศไทย
กฐินหลวง เป็นผ้าพระกฐินพระราชทานที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินไปพระราชทานด้วยพระองค์เอง หรือทรงโปรดเกล้าให้พระบรมวงศานุวงศ์ชั้นผู้ใหญ่เสด็จไปพระราชทานแทน กฐินหลวงนี้จัดเครื่องพระราชทานด้วยพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ และบางครั้งมีการจัดพิธีแห่เครื่องกฐินพระราชทานอย่างใหญ่ โดยกระบวนพยุหยาตราชลมารคหรือกระบวนพยุหยาตราสถลมารถ แล้วแต่พระราชประสงค์ (ในปัจจุบันคงการเสด็จพระราชดำเนินทรงถวายผ้าพระกฐินอย่างพิธีใหญ่นั้น คงเหลือเพียงโดยกระบวนพยุหยาตราชลมารคเท่านั้น)
กฐินหลวงในปัจจุบันมีเพียง 16 วัดเท่านั้น เช่น วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร วัดบวรนิเวศวิหาร วัดพระปฐมเจดีย์ราชวรมหาวิหาร เป็นต้น
กฐินต้น เป็นผ้าพระกฐินพระราชทานที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
เสด็จพระราชดำเนินไปพระราชทานยังวัดราษฎร์เป็นการส่วนพระองค์
กฐินพระราชทาน เป็นผ้าพระกฐินพระราชทานที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานผ้าพระกฐิน และเครื่องกฐินแก่พระบรมวงศานุวงศ์
ข้าราชบริพาร ส่วนราชการ หน่วยงาน สมาคม หรือเอกชน ให้ไปทอดยังพระอารามหลวงต่าง ๆ
ทั่วราชอาณาจักร (ในปัจจุบันกรมการศาสนารับผิดชอบจัดผ้าพระกฐินและเครื่องกฐินถวาย)
กฐินราษฎร์ คือกฐินที่ราษฏรหรือประชาชนทั่วไปที่มีจิตศรัทธาจัดถวายผ้ากฐิน
และเครื่องกฐินไปถวายยังวัดราษฎร์ต่าง ๆ โดยอาจแบ่งออกเป็นจุลกฐิน และมหากฐิน
(กฐินสามัคคี) ในปัจจุบันกฐินราษฎร์ หรือเรียกกันโดยทั่วไปว่า กฐินสามัคคี ผู้เป็นประธานหรือเจ้าภาพในการทอดกฐินจะให้ความสำคัญกับการรวบรวม
(เรี่ยไร) เงินและสิ่งของเพื่อเข้าประกอบเป็นบริวารกฐินมากกว่า เพราะวัดสามารถนำสิ่งเหล่านี้ไปใช้ประโยชน์ทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาได้
และเนื่องจากการถวายผ้ากฐินเป็นกาลทาน จึงทำให้ประเพณีการทอดกฐินเป็นงานสำคัญประจำปีของวัดต่าง
ๆ โดยทั่วไปในประเทศไทย
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น